หลายๆคนอาจจะสงสัยอยู่บ้างว่า บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าของประเทศเยอรมนีนั้นมีใครบ้าง? วันนี้ ผมก็เลยรวบรวมบุคคลที่มีความสำคัญมากที่สุด 12 ท่านพร้อมประวัติและตำแหน่งหน้าที่การงานเอามาให้ทุกคนได้อ่านกันนะครับ เราไปดูกันเลยดีกว่าว่าตัวละครสำคัญในการจัดการกับวิกฤตไวรัสโคโรน่าของเยอรมนีนั้นมีหน้าตาและชื่อเสียงเรียงนามอย่างไรกันบ้าง Let’s go!
1. Angela Merkel (อังเกลา แมร์เคิล) – Bundeskanzlerin (นายกรัฐมนตรีเยอรมัน)
ชื่อเล่นเพื่อความเรียกง่าย: ป้าอัง

ป้าอังเกิดที่เมือง Hamburg (หรรมบวก) แต่ว่าขุ่นพ่อของป้าเป็นบาทหลวงย้ายไปรับงานใกล้ๆเมือง Perleberg (แพร์เลอแบร์ก) ในเยอรมนีตะวันออก ป้าอังจึงโตมาในระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์นะครับ ป้ามีพื้นฐานการศึกษาเป็นนักฟิสิกส์และเคยทำงานในสถาบันวิจัยส่วนกลางทางฟิสิกส์และเคมีในเยอรมนีตะวันออก ก่อนที่จะเข้าร่วมพรรค Christlich Demokratische Union (CDU – สหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน) ภายใต้การนำของลุง Helmut Kohl หลังจากการรวมประเทศเยอรมนีตะวันออก-ตะวันตก ป้าอังได้รับเลือกตั้งเข้าไปนั่งในรัฐสภาครั้งแรกในปี 1990 เคยเป็นรมต.กระทรวงเด็กและสตรี, กระทรวงสิ่งแวดล้อม ก่อนที่จะชนะเลือกตั้งในปี 2005 และเป็นนายกรัฐมนตรีของเยอรมนีมาแล้วเป็นสมัยที่สี่ในปัจจุบันนะครับ
ในช่วง 15-16 ปีที่ผ่านมา ป้าอังได้นำพาประเทศเยอรมนีผ่านวิกฤตที่เลวร้ายมามากมาย ตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008/2009, วิกฤตหนี้และเงินยูโร เป็นต้น ป้าขึ้นชื่อเรื่องการตัดสินใจโดยใช้หลักเหตุผลและไม่ใช้อารมณ์แต่มาพลาดท่านิดหน่อยตอนปี 2015 ที่ตัดสินใจรับผู้อพยพจากสงครามซีเรียเข้ามามากมาย โดยเป็นการตัดสินใจด้วยอารมณ์ความสงสารของป้าจริงๆ วิกฤตผู้อพยพลี้ภัยครั้งนั้นทำให้มีคนไม่พอใจการตัดสินใจของป้าในเยอรมนีและในยุโรปจำนวนมาก และเป็นเหตุให้คะแนนนิยมของพรรคป้าลดลง ในขณะที่คะแนนนิยมของพรรคฝ่ายขวาจัดก็เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี ในวิกฤตไวรัสโคโรนาครั้งนี้ การจัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพของป้าอังและทีมงาน ทำให้ชาวเยอรมันได้ประจักษ์อีกครั้งว่าป้าก็เป็นนายกรัฐมนตรีของชาวเยอรมันทุกคนจริงๆ ในขณะนี้ยังไม่ทราบว่าใครจะขึ้นมาเป็นผู้สมัครชิงเก้าอี้นายกต่อจากป้าอัง แต่การจะหาคนที่ทำหน้าที่ได้เด็ดเท่าป้าก็คงไม่ง่ายเลยครับ
2. Ursula von der Leyen (อัวซูลา ฟอนแดร์ไลเยน) – EU-Kommissionspräsidentin (ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป)
ชื่อเล่นเพื่อความเรียกง่าย: ป้าอั๋ว

ป้าอั๋วเกิดมาในดงผู้ดีแห่งยุโรปอย่างแท้จริง ขุ่นพ่อของป้าอั๋วเคยเป็นถึงผู้ว่าการรัฐ Niedersachsen (หนีเด้อศักดิ์เซ่น) แล้วสมัยที่ภัยคอมมิวนิสต์ช่วงสงครามเย็นกำลังคุกคามโลก ป้าอั๋วถึงกับต้องลี้ภัยไปอยู่ลอนดอนเพื่อหลีกหนีการถูกลักพาตัวเลยนะครับ ความเด็ดของป้าอยู่ที่ป้าเรียนจบเศรษฐศาสตร์จาก London School of Economics แล้วยังมีพลังเหลือกลับมาเรียนแพทย์ที่เยอรมนีต่อที่ Hannover Medical School อีกต่างหาก!!!
ป้าอั๋วเข้าร่วมพรรค CDU เหมือนกับป้าอัง และได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งรมต.กระทรวงครอบครัวและเด็ก, กระทรวงแรงงานและกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลของป้าอังที่ผ่านมานะครับ และล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2019 ป้าอั๋วก็ได้รับเลือกจากผู้นำ 28 ประเทศในสหภาพยุโรปให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปซึ่งถือเป็นตำแหน่งที่สูงมากๆจริงๆ (ทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นในขณะที่ป้ามีลูก 7 คนนะครับ!!!)
ตอนที่มีข่าวว่าป้าอั๋วได้รับเลือก แอดมินเองรู้สึกงงเล็กน้อยว่าป้าอั๋วจะทำได้จริงหรือ!? แต่ปัจจุบันในสถานการณ์วิกฤตการณ์โคโรนาแบบนี้ ป้าอั๋วได้ออกโรงมาช่วยไกล่เกลี่ยระหว่างประเทศต่างๆในยุโรปให้ช่วยเหลือกันและกันและไม่กักตุนหน้ากากอนามัย (ตอนแรกๆมีข่าวว่าเยอรมนีไม่ยอมส่งให้ออสเตรีย, อิตาลี, สวิส ก็ได้ป้าอั๋วนี่แหละครับเข้ามาไกล่เกลี่ยแรงหนึ่ง) และให้ยังคงเปิดพรมแดนสำหรับการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนเพื่อไม่ให้ชีวิตของคนยุโรปต้องหยุดชะงักลง นอกจากนี้ป้าอั๋วยังอนุมัติเงินกู้ 80 ล้านยูโรให้บริษัท CureVac เพื่อพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาอีกด้วย ป้าอั๋วพูดภาษาเยอรมัน, ฝรั่งเศส, และอังกฤษได้คล่องแคล่วและฟังชัด คิดว่าน่าจะมีบทบาทที่สำคัญในเวทีการเมืองยุโรปต่อไปแน่นอนครับ
3. Christian Drosten (คริสเตียน ดรอสเท็น) – Direktor der Charité (นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยชาริเต)
ชื่อเล่นเพื่อความเรียกง่าย: ลุงดอด

ลุงดอดเป็นนักไวรัสวิทยาที่มีชื่อเสียงมากของเยอรมนี หลังจบปริญญาเอกแพทยศาสตร์ในปี 2000 ลุงดอดเริ่มต้นชีวิตการทำงานที่สถาบัน Bernhard Nocht Institute for Tropical Medicine (BNITM) ที่เมือง Hamburg (หรรมบวก) โดยทีมของลุงทำงานเกี่ยวกับการวิเคราะห์เชิงโมเลกุลสำหรับโรคติดต่อไวรัสเขตร้อน จากนั้นในปี 2007 ลุงก็ย้ายไปเป็นผู้อำนวยการสถาบันไวรัสวิทยาที่ University Hospital Bonn ที่เมืองบอนน์ และตั้งแต่ปี 2017 ลุงก็เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการแผนกไวรัสวิทยาของสถาบันวิจัย Charité (ชาริเต) ที่เบอร์ลินนะครับ
ผลงานเด็ดของลุงดอดก็คือการค้นพบเชื้อไวรัส SARS-CoV ที่ระบาดในประเทศจีน และสามารถพัฒนาวิธีการตรวจเทสต์ไวรัสตัวนี้ในปี 2003 ทำให้ลุงดอดมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกโดยเฉพาะในหมู่นักไวรัสวิทยา
สำหรับการระบาดของไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ลุงดอดร่วมกับทีมงานวิจัยของลุงก็เป็นสามารถพัฒนาและเผยแพร่ตัวทดสอบไวรัสให้ทั่วโลกได้นำไปใช้ตั้งแต่กลางเดือนมกราคม 2020 เป็นต้นมานะครับ ในวิกฤตโคโรนา ลุงดอดก็ได้รับเชิญไปให้ความรู้ตามสื่อต่างๆของเยอรมนีมากมายจนกลายเป็นคนดังมากๆคนหนึ่ง ถึงขนาดว่ามีป้าๆเยอรมันบางคนเอารูปลุงมาสักที่ตัวเพราะป้าๆนั้นบูชาลุงดอดกันสุดๆเลยล่ะครับ
4. Lothar Wieler (โลทาร์ วีลาร์) – Präsident des Robert-Koch-Instituts (ประธานสถาบันวิจัยโรแบร์ต-ค็อค ควบคุมและเฝ้าระวังโรคติดต่อ)
ชื่อเล่นเพื่อความเรียกง่าย: ลุงวี

ลุงวีเรียนจบสัตวแพทยศาสตร์จากมหา’ลัยเบอร์ลินและมหา’ลัย Ludwig-Maximilian Universität ที่มิวนิค โดยที่มิวนิคนี้เองเป็นที่ๆลุงเรียนจบปริญญาเอก
หลังจบปริญญาเอก ลุงวีก็ทำงานเป็นผู้ช่วยวิจัยที่สถาบันสุขอนามัยและโรคติดเชื้อของสัตว์ ( Institut für Hygiene und Infektionskrankheiten der Tiere) ที่มหา’ลัย Justus-Liebig-Universität ที่เมือง Gießen (กีซึ่น) ในช่วงปี 1990-1998 โดยที่ในปี 1997 ลุงก็ได้วุฒิบัตรเป็นสัตวแพทย์เฉพาะทางด้านจุลชีววิทยา (Mikrobiologie)
ตั้งแต่ปี 1998 ลุงวีก็ได้เป็นศาสตราจารย์ทางด้านจุลชีววิทยาและโรคติดต่อในสัตว์ที่มหา’ลัยเบอร์ลิน และตั้งแต่ปี 2015 ลุงก็ได้รับตำแหน่งประธานของสถาบันวิจัยโรแบร์ต-ค็อค (Robert-Koch-Institut : RKI) ที่มีหน้าที่เฝ้าระวังเรื่องโรคติดต่อภายในประเทศเยอรมนี และออกทีวีรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาทุกวันเลยครับในช่วงนี้
5. Olaf Scholz (โอลาฟ โชลส์) – Finanzminister (รมต.กระทรวงการคลัง)
ชื่อเล่นเพื่อความเรียกง่าย: ลุงฉน

ลุงฉนเกิดที่เมืองออสนาบรึค (Osnabrück) ในเยอรมนีตะวันตกแต่ว่าไปโตที่เมืองหรรมบวก (Hamburg- ที่จริงๆแล้วภาษาไทยเขียนว่า “ฮัมบวร์ก” นั่นแหละครับ) โดยจบการศึกษาสาขานิติศาสตร์และเคยทำงานเป็นทนายความในช่วงเริ่มต้นของชีวิตการทำงานนะครับ ลุงฉนมีความสนใจการเมืองและเข้าเป็นสมาชิกพรรคสังคมประชาธิปไตยแห่งเยอรมนี (Sozialdemokratische Partei Deutschlands – SPD) ในปี 1975
ลุงฉนเคยเป็นรมต.กระทรวงแรงงานในช่วงปี 2007-2009 และได้รับความนิยมอย่างมากที่เมืองหรรมบวกและได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการรัฐหรรมบวกในช่วงปี 2011-2018 ก่อนที่จะได้รับเลือกให้ไปดำรงตำแหน่งรมต.กระทรวงการคลังและรองนายกฯ ของเยอรมนี ตั้งแต่ปี 2018 นะครับ
ในวิกฤตโคโรนาครั้งนี้ ลุงฉนก็ทำการติดต่อหารือกับรมต.กระทรวงพาณิชย์อย่างเร่งด่วนเพื่อทำแผนร่างการช่วยเหลือผู้ประกอบการระดับกลางและผู้ประกอบการรายย่อยให้ได้รับผลกระทบจากการล็อคดาวน์น้อยที่สุด รวมทั้งอนุมัติเงินช่วยเหลือกว่าห้าหมื่นล้านยูโรเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจของเยอรมนี นโยบายแจกโบนัส 1500 ยูโรโดยไม่หักภาษีสำหรับคนที่ทำงานหนักในช่วงโคโรนาก็มีลุงฉนเป็นผู้ร่วมอนุมัติเช่นกันครับ นอกจากนี้ลุงยังพยายามปกป้องจุดยืนของเยอรมนีในเวทียุโรปด้วยการแสดงความไม่เห็นด้วยกับ Corona bond ที่จะทำให้เยอรมนีต้องกลายเป็นกระเป๋าเงินขนาดใหญ่สำหรับประเทศอื่นๆในยุโรป ก็ต้องติดตามดูกันต่อไปว่าสถานการณ์จะพัฒนาไปในทางไหนครับ
6. Christine Lagarde (คริสติน ลาการ์ด) – EZB Präsidentin (ผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรป)
ชื่อเล่นเพื่อความเรียกง่าย: ป้าคริสติน

ป้าคริสตินเป็นชาวฝรั่งเศสและเรียนจบทางด้านด้านรัฐศาสตร์ที่มหา’ลัย Université Paris X-Nanterre ก่อนที่ป้าจะเข้าทำงานที่บริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมาย Baker & McKenzie และได้เป็นหัวหน้าดูแลบริษัทในเขตยุโรปตะวันตกภายในหกปี ในปี 2004 ป้าก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ระดับโลกของบริษัทเลยนะครับ
ตั้งแต่ปี 2005 ป้าคริสตินก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมครม.ของรัฐบาลฝรั่งเศส โดยได้รับตำแหน่งรมต.กระทรวงเกษตรฯ ต่อด้วยกระทรวงการคลัง จากนั้นในช่วงปี 2011 ถึง 2019 ป้าคริสตินก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่า IMF (International Monetary Fund) ที่มีส่วนช่วยกู้สถานการณ์วิกฤตหนี้ยุโรปในกรีซ, สเปน, อิตาลี, และโปรตุเกส และตั้งแต่ต้นปี 2020 ป้าก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank – ECB หรือ Europäische Zentralbank – EZB ในภาษาเยอรมันนะครับ)
ป้าคริสตินตัดสินใจอนุมัติการซื้อพันธบัตรรัฐบาลของยุโรปเป็นมูลค่าถึงเจ็ดแสนห้าหมื่นล้านยูโร เพื่อรับมือกับวิกฤตไวรัสโคโรนาในยุโรป นอกจากนี้คนที่ทำงานในธนาคารกลางยุโรปยังมีเม้าแบบชื่นชมอีกด้วยว่าสไตล์การทำงานของป้านั้นเด็ดตรงที่จะมีการถามความเห็นและพยายามกระตุ้นให้คนที่ทำงานด้วยมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเสมอ ต่างกับผู้ว่าคนก่อนที่มีแนวโน้มจะตัดสินใจอะไรเดี่ยวๆ
7. Jens Spahn (เยนส์ ชปาน) – Gesundheitsminister (รมต. สาธารณสุข)
ชื่อเล่นเพื่อความเรียกง่าย: ลุงเย็น

ลุงเย็นเป็นนักการเมืองหนุ่มไฟแรงที่อายุเพิ่งจะเกือบ 40 ในขณะที่เขียนบทความนี้นะครับ ลุงเย็นเรียนจบโปรแกรม Duale Ausbildung ที่เป็นหลักสูตรพิเศษของประเทศเยอรมนีที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ฝึกทำงานไปด้วยและเรียนทฤษฎีไปด้วยในเวลาเดียวกัน โดยสาขาวิชาชีพที่ลุงเย็นเรียนจบมาก็คือนายธนาคาร (Bankkaufmann) นั่นเองครับ ลุงเย็นได้รับเลือกตั้งเป็นสส.แบบแบ่งเขตของพรรค CDU (พรรคเดียวกันกับป้าอัง นายกเยอรมันนั่นเอง) ตั้งแต่ปี 2002 ขณะที่ลุงมีอายุเพียง 22 ปี และถือเป็น สส.ที่อายุน้อยที่สุดที่ได้เข้าไปนั่งในสภาเยอรมัน ที่น่าสนใจอีกอย่างคือลุงเป็นเก้ง และแต่งงานกับลุงนักข่าวชื่อ Daniel Funke ตั้งแต่ปี 2017 ซึ่งดูแล้วไม่ค่อยเข้ากับศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกที่ลุงเข้าร่วมอยู่ แต่ก็ดูเหมือนจะไปกันได้
น่าจะเป็นเพราะลุงเย็นได้เป็นสส.ตั้งแต่อายุน้อย ลุงจึงพยายามเรียนรัฐศาสตร์หลักสูตรทางไกลกับมหา’ลัย Fernuniversität Hagen เรื่อยมา จนล่าสุดในปี 2017 ก็สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านรัฐศาสตร์นะครับ และตั้งแต่ต้นปี 2018 ลุงเย็นก็ได้เข้ามารับตำแหน่งรมต.สาธารณสุขของเยอรมนีจนถึงปัจจุบัน
บทบาทของลุงในช่วงวิกฤตโคโรนาจึงค่อนข้างสำคัญมากๆ อาทิเช่น การขอความร่วมมือจากบริษัทเครื่องมือแพทย์ให้ผลิตเครื่องช่วยหายใจเพิ่ม 10000 เครื่องทันทีตั้งแต่เริ่มวิกฤต การสั่งเพิ่มปริมาณการผลิตหน้ากากอนามัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ การจัดเงินสนับสนุนเพิ่มให้กับโรงพยาบาลที่เพิ่มเตียงรับรองผู้ป่วยฉุกเฉินจากไวรัสโคโรนา และการขอความช่วยเหลือจากแพทย์ที่เกษียณอายุทำงานไปแล้วให้เข้ามาช่วยรักษาผู้ป่วย เรียกได้ว่าทำงานหลายอย่างจนไม่มีเวลามา “หวด” ใครเลยครับ
8. Heiko Maas (ไฮโค มาส) – Außenminister (รมต. ต่างประเทศ)
ชื่อเล่นเพื่อความเรียกง่าย: ลุงหมาด

ลุงหมาดเรียนจบด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐซาร์ลันด์ (Universität des Saarlandes) และเริ่มเข้าร่วมกิจกรรมการเมืองกับพรรคสังคมประชาธปไตยแห่งเยอรมนี (SPD) ตั้งแต่ปี 1989 โดยทำงานการเมืองท้องถิ่นในรัฐ Saarland (ซาร์ลันด์ – แถได้ว่าสาวรั้น!) ส่วนการเมืองระดับประเทศนั้นลุงหมาดได้เข้าร่วมตั้งแต่ปี 2013 โดยดำรงตำแหน่งรมต.กระทรวงยุติธรรมในรัฐบาลแมร์เคิล 3 และในรัฐบาลแมร์เคิล 4 ปัจจุบัน ลุงหมาดก็ได้รับตำแหน่งรมต.กระทรวงการต่างประเทศ
บทบาทที่สำคัญในช่วงโคโรนาของลุงหมาดก็คือภารกิจ “Rückholaktion” ที่จัดเครื่องบินไปรับคนเยอรมันที่ติดค้างอยู่ตามประเทศต่างๆทั่วโลกกลับบ้าน โดยเป็นภารกิจที่รับชาวเยอรมันเกือบๆ 200000 คนกลับเข้าประเทศ และถือเป็นงานรับคนกลับบ้านที่ใหญ่ที่สุดตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเลยนะครับ
9. Peter Altmeyer (เพทาร์ อัลท์ไมยาร์) – Wirtschaftsminister (รมต.พาณิชย์)
ชื่อเล่นเพื่อความเรียกง่าย: ลุงอั๋น

ลุงอั๋นเรียนจบทางด้านนิติศาสตร์จากหาวิทยาลัย Universität des Saarlandes ที่เดียวกับลุงหมาด ลุงอั๋นเข้าเป็นสมาชิกพรรคสหภาพคริสเตียนประชาธิปไตย (CDU) ตั้งแต่ปี 1976 และได้เป็นสส.เข้าไปนั่งในสภาเยอรมันตั้งแต่ปี 1994 ถึงปัจจุบัน และถือว่าเป็นนักการเมืองที่ได้ตำแหน่งรมต.ในรัฐบาลของป้าอัง ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับป้าอังมาเป็นเวลายาวนานที่สุดพอๆกับป้าอั๋ว (Ursula von der Leyen)
ลุงอั๋นได้ดำรงตำแหน่งรมต. ช่วยกระทรวงมหาดไทย, รมต. กระทรวงสิ่งแวดล้อม, สำนักนายกฯ, และในรัฐบาลแมร์เคิล 4 ล่าสุดก็เป็นรมต.กระทรวงพาณิชย์และพลังงาน
ในสถานการณ์โคโรนาบทบาทของลุงอั๋นก็คือการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อยทั่วทั้งประเทศ ทั้งการให้เงินช่วยเหลือเร่งด่วน (Soforthilfe) แบบให้เปล่าไม่ต้องใช้คืน และการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ แม้ว่าในขณะที่เขียนอยู่จะมีข่าวว่ามีบางคนแอบอ้างขอความช่วยเหลือแบบทุจริตในรัฐ Nordrhein-Westfalen (นอร์ดไรน์- เวสต์ฟาเลิน/แถได้ว่า “น้องร้ายไว้ฟาดเล่น”) จนต้องระงับการจ่ายเงินชั่วคราว แต่เงินช่วยเหลือจากโครงการของลุงอั๋นก็น่าจะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจของประเทศไปได้ในระดับหนึ่งแน่นอนครับ
10. Hubertus Heil (ฮูแบร์ทุส ไฮล์) – Arbeitsminister (รมต.แรงงาน)
ชื่อเล่นเพื่อความเรียกง่าย: ลุงหูบ

ลุงหูบเริ่มเรียนสาขารัฐศาสตร์และสังคมวิทยาในปี 1995 ที่มหา’ลัยพอตสดัมแต่ว่าน่าจะงานยุ่งมากเพราะสุดท้ายต้องโอนหน่วยกิตไปเรียนทางไกลกับมหาวิทยาลัยฮาเก้นและเรียนจบในปี 2006
ลุงหูบเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคสังคมประชาธิปไตยแห่งเยอรมนี (SPD) ตั้งแต่ปี 1988 และได้เป็นสส.เข้าไปทำงานในสภาเยอรมันตั้งแต่ปี 1998 นะครับ เคยเป็นเลขาธิการพรรค SPD อยู่ในช่วง 2005-2009 และ 2017 ก่อนที่จะได้รับตำแหน่งรมต.กระทรวงแรงงานในปี 2018
บทบาทของลุงหูบในวิกฤตโคโรนาครั้งนี้คือการพยายามรักษาตำแหน่งงานทุกตำแหน่งและป้องกันการถูกไล่ออกจากงานด้วยนโยบาย Kurzarbeit (การลดชั่วโมงทำงานให้น้อยลง) โดยพนักงานที่ได้รับเงินเดือนน้อยลงจากนโยบายนี้สามารถขอรับเงินช่วยเหลือ Kurzarbeitergeld จากรัฐบาลเยอรมันได้ เราก็ต้องช่วยกันลุ้นให้นโยบายนี้ป้องกันคนตกงานได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้นะครับ
11. Julia Klöckner (ยูเลีย เคลิกนาร์) – Landwirtschaftsministerin (รมต. เกษตร)
ชื่อเล่นเพื่อความเรียกง่าย: ป้ายุ

ป้ายุเรียนจบปริญญาโททางด้านสังคมวิทยาและศาสนาจากมหาวิทยาลัย Johannes Gutenberg Universität ที่เมือง Mainz หลังจากนั้นก็ทำงานเป็นครูสอนวิชาศาสนาและจริยธรรมที่เมือง Wiesbaden รวมทั้งเคยร่วมงานกับสำนักข่าว SWR ทำรายการเกี่ยวกับไวน์ด้วย
ป้าเข้าร่วมพรรคสหภาพคริสเตียนประชาธิปไตย (CDU) ในปี 1997 และได้เป็นสส.ทำงานในสภาตั้งแต่ปี 2002 ในปี 2009 ป้ายุเคยเป็นรมต.ช่วยกระทรวงเกษตรอยู่พักหนึ่งก่อนที่จะขอลาไปทำงานการเมืองระดับรัฐ Rheinland-Pfalz (ไรน์ลันด์-ฟัลส์/ แถได้ว่า “ไร่ลานฝัน”) ในปี 2018 ป้ายุได้รับแต่งตั้งเป็นรมต.กระทรวงเกษตรของเยอรมนี
บทบาทของป้ายุในวิกฤตโคโรนาก็คือการพยายามสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนชาวเยอรมันว่าไม่มีความจำเป็นใดๆที่ต้องกักตุนสินค้าและอาหาร เพราะห่วงโซ่การกระจายสินค้าและอาหารทุกอย่างนั้นป้ายุเอาอยู่จริงๆ นอกจากนี้ป้ายุยังเสนอให้มีการโยกย้ายแรงงานจากสาขาที่ตกงานในตอนนี้เข้ามาช่วยในภาคการเกษตรเพื่อให้การผลิตอาหารเป็นไปได้โดยไม่ขาดตอน รวมทั้งการพยายามพิจารณาผ่อนผันอนุญาตให้แรงงานต่างชาติได้เข้ามาช่วยเก็บเกี่ยวพืชผลในเยอรมนี
12. Markus Söder (มาร์คุส เซอดาร์) – Ministerpräsident Bayern (ผู้ว่าการรัฐบาเยิร์น)
ชื่อเล่นเพื่อความเรียกง่าย: ลุงมังคุด

ลุงมังคุดเรียนจบปริญญาเอกด้านนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Friedrich-Alexander-Universität ที่เมือง Erlangen และเคยทำงานเป็นบรรณาธิการที่สำนักข่าว Bayerische Rundfunk ที่มิวนิคอยู่สองสามปี ลุงมาเป็นสมาชิกพรรคสหภาพสังคมคริสเตียนแห่งรัฐบาเยิร์น (Christlich-Soziale Union – CSU ซึ่งเป็นพรรคพี่น้องกับพรรค CDU ในรัฐอื่นๆของเยอรมนี) ตั้งแต่ปี 1983 ได้รับเลือกเข้าไปเป็นผู้แทนในสภาของรัฐบาเยิร์นตั้งแต่ปี 1994 เคยได้รับตำแหน่งรมต.กระทรวงการคลังและกระทรวงสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลแห่งรัฐบาเยิร์น ในการเลือกตั้งระดับรัฐบาเยิร์นในปี 2018 พรรค CSU ได้คะแนนเสียงมากที่สุด ทำให้ลุงมังคุดได้เป็นผู้ว่าการรัฐบาเยิร์น
พออ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะงงว่า ลุงมังคุดไม่ได้เป็นรมต.ระดับประเทศ เป็นแค่ผู้ว่าการรัฐบาเยิร์นเท่านั้นเอง แล้วลุงมีบทบาทอะไร!? คำตอบนั้นก็คือ เพราะลุงมังคุดเป็นคนที่ตัดสินใจเด็ดขาดเริ่มสั่งมาตรการล็อคดาวน์รัฐบาเยิร์นเป็นคนแรกโดยไม่ต้องรอคำสั่งจากป้าอังที่เป็นนายก มาตรการต่างๆที่บังคับใช้ออกมาในรัฐบาเยิร์นได้เป็นจุดเริ่มต้นของการตื่นตัวและเอาจริงเอาจังในการแก้ไขปัญหาเรื่องไวรัสโคโรนาทั้งประเทศเยอรมนี และในการพูดสื่อสารกับประชาชนทุกครั้ง ลุงมังคุดก็ย้ำเสมอว่าชีวิตและสุขภาพของประชาชนนั้นต้องมาเป็นอันดับแรก ด้วยเหตุนี้ คะแนนนิยมพรรคลุงมังคุดตอนนี้จึงพุ่งปรี๊ดขึ้นมา ถ้าลุงทำคะแนนเพิ่มได้อีกก็ไม่แน่ว่าลุงมังคุดอาจจะกลายเป็นว่าที่นายกคนถัดไปของเยอรมนีก็เป็นได้เลยนะครับ
ถ้าคุณเป็นครู นักเรียนคงชอบเรียนกับคุณมาก ตัวละครชื่อไทยฟังง่ายจำง่ายออกเสียงง่าย มาอยู่เยอรมันก็หลายปี ปกติจะจำป้าอังได้คนเดียว ตอนนี้จำได้หมดเลย คนอื่นๆป้าลุงคงเหมาะ ส่วนพี่เย็น อย่าเรียกแกลุงเลยค่ะ พี่แกแค่เตะสี่สิบเอง เรียกพี่คงพอไหวมังคะ
ขอบคุณมากครับสำหรับ Comment สงสัยต้องลองพยายามทำหลักสูตรอบรมอะไรสักอย่างให้สนุกๆแล้วครับ 555
ในส่วนของลุงเย็นนั้นจริงๆแล้วที่เรียกลุงเพราะเรียกตามตำแหน่งนะครับเหมือนเป็นการเรียกแสดงความเคารพไปด้วยในตัว
ถ้าเจอข้างนอกก็คงไม่เรียกว่าลุง คงจะเรียกว่าพี่นั่นล่ะครับ 555 🙂
อ่านแล้วเข้าใจง่ายและสนุกยิ้มไปด้วยเวลาอ่าน
ขอบคุณมากครับแล้วจะพยายามทำบทความแนวประมาณนี้อีกนะครับ 🙂
ขอชื่นชม การเรียบเรียง
ทำให้ ผู้อ่าน อ่านไป อมยิ้ม ไป ถ้าเป็นอาจารย์ สอน รับรอง ลูกศิษย์ เข้าเรียน ชั่วโมงของคุณเพี๊ยบ เลยค่ะ ขอบคุณนะค่ะ สำหรับ เรื่องราว ดี ดี ที่แบ่งปันกัน 💞
Thank you very much krab 🙂
จากที่อ่านมา ระบบ หรือวิธีคิดของแต่ละประเทศจะคล้ายๆกัน แต่…
การตัดสินที่จะทำโน่นนี่นู่ ของแต่ละเทศ ช้าหรือเร็วก็จะแต่ต่างกัน