วันนี้แอดมินมีความกังวล 9 ประการที่จะเกิดขึ้นแน่นอนกับทุกคนที่กำลังจะโกอินเตอร์มาแชร์ให้แฟนๆเพจอ่านกันนะครับ หวังว่าทุกคนจะสามารถรับมือกับความกังวลต่างๆได้และมีกำลังใจที่จะสู้ต่อไปเพื่อชีวิตที่เด็ดกว่าดีกว่ากันนะครับ
1. อาหารการกิน
เรื่องอาหารการกินนี้น่าจะเป็นความกังวลอันดับต้นๆของคนไทยเราเวลาที่โกอินเตอร์ไปอยู่ต่างแดนเป็นเวลานานเพราะอาหารไทยของเรานั้นแซ่บเป็นอันดับต้นๆของโลกอยู่แล้ว ไปต่างบ้านต่างเมืองการจะหาอาหารไทยกินก็จะยากขึ้น ร้านอาหารไทยก็ไม่ได้หาได้ง่ายๆ แล้วบางทีเจอร้านอาหารไทยแล้วรสชาติก็ยังบ่แซ่บถืกปากเราอีก (ขนาดไปญี่ปุ่นที่มีอาหารน่าจะถูกปากคนไทยส่วนมากอยู่แล้ว คนไทยเราก็ยังเบื่ออาหารญี่ปุ่นและต้องกระเสือกกระสนหาของไทยกินเลยครับ!)
ด้วยเหตุนี้คนไทยเราส่วนใหญ่จึงพยายามแก้ปัญหานี้ด้วยการหอบหม้อหุงข้าวไปเองและทำอาหารกินเองที่บ้านมันซะเลย เพราะสมัยนี้โชคดีตรงที่เครื่องปรุงไทยและแม้แต่ผักไทยก็สามารถหาซื้อได้ตามซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านขายของชำสำหรับคนเอเชียทั่วไปครับ แอดมินเองเมื่อก่อนทำอาหารไม่เป็นเลยแต่พอโกอินเตอร์สถานการณ์มันก็บังคับให้เราต้องทำเป็นเพื่อความอยู่รอดขึ้นมาเองครับ ทุกวันนี้ก็มีความสุขกับการทำอาหารแซ่บๆกินเองที่บ้าน และจะสุขมากเวลาทำเลี้ยงเพื่อนแล้วเค้าฟินกันแบบกินเรียบเลยนะครับ แฟนเพจคนไหนมาแถวมิวนิคแวะมาเลี้ยงข้าวแอดมินหรือให้แอดมินเลี้ยงข้าวได้นะครับ สรุปวิธีแก้ความกังวลเรื่องอาหารคือให้หัดทำกับข้าวกินเองนะครับ!

2. ภาษาและการสื่อสาร
ความกังวลอันดับต้นๆอีกอย่างหนึ่งของการโกอินเตอร์คือ เรื่องภาษาและการสื่อสาร นั่นเอง ก็เวลาไปอยู่ต่างประเทศคนรอบข้างเราก็ไม่มีใครพูดไทยคุยกับเรารู้เรื่องแล้วเป็นเรื่องปกติครับ ดังนั้นเวลาจะไปติดต่ออะไรเราจึงมีความจำเป็นต้องสื่อสารกับคนในประเทศนั้นๆเป็นภาษาที่เค้าฟังแล้วเข้าใจ เรียกได้ว่าเราต้องปรับและเปลี่ยนตัวเราเองให้เข้ากับประเทศปลายทางให้ได้นะครับ (อย่าได้หวังลมๆแล้งๆว่าเค้าจะมาปรับอะไรเพื่อเราสักอย่างเลยนะครับ เพราะคุณจะมีแต่ผิดหวังแน่นอน! กรณีนี้เค้าไม่มีความจำเป็นต้องมาปรับตัวเค้าเพื่อเราเลยเพราะมันคือประเทศของเค้าครับ เราเป็นคนไปขออาศัยนะอย่าลืม!)
ความกังวลเรื่องภาษานั้นสามารถผ่อนคลายได้ด้วยการเตรียมตัวเรียนภาษาตั้งแต่เนิ่นๆ เช่นถ้าคุณอยากไปประเทศไหนก็ให้ไปเรียนภาษาของประเทศนั้นๆล่วงหน้าก่อนเดินทางสัก 6 เดือนถึงหนึ่งปีเป็นอย่างน้อยเลยครับ ไม่ต้องเรียนอัดทุกวัน แค่อาทิตย์ละครั้งก็ยังดีครับเพราะภาษาเป็นทักษะที่เน้นการฝึกฝนเป็นประจำ ทำน้อยๆแต่ทำนานๆจะได้ผลที่ดีกว่ามาทำเยอะๆในเวลาสั้นๆ จากประสบการณ์ของแอดมินเองก็มีโอกาสได้เรียนภาษาญี่ปุ่น 6 ปีก่อนไปอยู่ญี่ปุ่นจริงๆ และเรียนภาษาเยอรมันก็ประมาณ 6 ปีก่อนย้ายไปอยู่เยอรมนีจริงๆ พอไปถึงแล้วแอดมินก็สามารถคุยกับคนญี่ปุ่นและคนเยอรมันได้เลยครับ แม้ว่าจะไม่ได้คล่องปร๋อปรู๊ดปร๊าด แต่สิ่งนี้มันช่วยลดความกังวลเรื่องภาษาไปได้หมดเกลี้ยงเลยจริงๆครับ

3. ค่าใช้จ่าย
เรื่องค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตในต่างแดนนี้เป็นความกังวลที่ทุกคนมีแน่นอน เพราะขนาดอยู่ไทยเรายังต้องระมัดระวังค่าใช้จ่ายกันเลย แต่อันนี้ไปอยู่ในประเทศที่ค่าครองชีพและสกุลเงินแพงกว่าบ้านเราอีก จะต้องกินแกลบหรือไม่เนี่ย!?!?
เอาล่ะครับวิธีผ่อนคลายความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายทำได้ด้วยการ “วางแผนการใช้จ่าย” แบบคร่าวๆกันเลยครับ วิธีการวางแผนก็ควรเริ่มกันจากค่าใช้จ่ายใหญ่ๆก่อนเช่นค่าเช่าห้องพักซึ่งสามารถหาข้อมูลได้จากอินเตอร์เน็ตหรือสอบถามคนที่เคยไปอยู่หรือกำลังอยู่ที่เมืองนั้นๆ(ถ้าไม่รู้จักใครเลยก็แนะนำให้หากลุ่มต่างๆในเฟสบุ๊คและตามห้องสนทนาในพันธุ์ทิพย์ก็น่าจะมีคนให้คำตอบเราได้บ้างแหละครับ) จากนั้นก็เป็นเรื่องของค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเช่นค่าประกันสุขภาพต่อเดือน, ค่าน้ำไฟ+โทรศัพท์+อินเตอร์เน็ต, ค่าเดินทางในเมือง(บางทีมีตั๋วรถไฟหรือรถบัสแบบเหมาเป็นเดือนก็เช็คราคาได้ตามเว็บของเค้า) และสุดท้ายเป็นค่าอาหาร พอรู้คร่าวๆแล้ว คุณก็อาจจะบวกมาร์จินไปอีก 20-30% ก็จะพอประมาณค่าใช้จ่ายต่อเดือนในการโกอินเตอร์ได้แล้วครับ
จากประสบการณ์ของแอดมินเองคิดว่าเวลาอยู่ต่างประเทศที่ค่าครองชีพสูงๆเนี่ย อะไรๆมันจะแพงกว่าที่ไทยอยู่แล้วจนตัวเราเองจะกลายเป็นคนที่มีสติในการใช้จ่ายขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติครับ แต่ก็อย่าเขียมมากจนลืมซื้อความสุขให้ตัวเองนะครับ ทุกสิ่งต้องอยู่บนทางสายกลางเสมอ

4. ความปลอดภัย
ส่วนใหญ่จะได้ยินความกังวลนี้จากผู้หญิงและคนที่อยากให้ลูกสาวไปโกอินเตอร์นะครับ ยิ่งถ้าไปอยู่เมืองใหญ่ๆที่มีอัตราการก่ออาชญากรรมสูงๆเราก็ต้องกังวลเป็นเรื่องธรรมดาครับ วิธีแก้ก็เริ่มจากว่าเราควรกลับมาทบทวนอีกทีว่าเราจำเป็นจะต้องไปอยู่เมืองที่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินต่ำกว่าบ้านเราจริงหรือ ถ้าคำตอบคือไม่ต้องก็ได้คุณก็เปลี่ยนไปหาเมือวที่ปลอดภัยกว่าอยู่ดีกว่ามั้ยครับ? แต่ถ้ายังไงๆก็ต้องไปที่นั่นให้ได้ แอดมินก็ขอแนะนำให้คุณไปเรียนวิชาป้องกันตัวเตรียมไว้แต่เนิ่นๆเลยครับ และเวลาอยู่ที่นั่นก็ให้เพิ่มความระวังดูแลสอดส่องทรัพย์สินให้ดีตลอดเวลา

5. การเจ็บป่วยและการดูแลสุขภาพ
เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญของชีวิตเราทุกคนนะครับ ความกังวลเรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วยที่แอดมินได้ยินบ่อยๆคือ “ความกลัวว่าไปหาหมอแล้วจะพูดกับหมอไม่รู้เรื่อง” แล้วทำให้รักษาโรคได้ไม่ถูกต้อง (สรุปกลายเป็นปัญหาเรื่องการสื่อสารมากกว่านั่นเอง) ความกังวลนี้สามารถแก้ได้ด้วยการฝึกฝนทักษะทางด้านภาษาของเราอยู่เสมอให้สามารถสื่อสารได้เก่งขึ้นๆเรื่อยๆ
นอกจากนี้ถ้าภาษาไม่ได้จริงๆแอดมินแนะนำให้คุณหัดใช้ Google Translator ให้คล่องๆเลยครับ ถึงเวลาให้หมอพูดคำในภาษาเค้า แล้วแอพมันจะแปลเป็นภาษาไทยให้เราเอง พอช่วยได้เยอะจริงๆครับ นอกจากนี้ก่อนจะโกอินเตอร์คุณควรจะศึกษาหาข้อมูลก่อนว่าระบบประกันสุขภาพของแต่ละประเทศเป็นอย่างไรบ้าง เช่นระบบหาหมอแบบญี่ปุ่นเป็นคล้ายๆไทยคือไปที่คลินิคเลยแต่คนไข้จ่ายเอง 30% เสมอ แต่ว่าระบบเยอรมันต้องโทรไปนัดหมอก่อนและต้องมีหมอประจำตัวหนึ่งคนเสมอ แต่ว่าค่ารักษาพยาบาลนี่ประกันจ่ายเต็ม 100% ในกรณีส่วนใหญ่

6. สังคม+ ความเหงา
การย้ายไปอยู่ต่างประเทศนั้นไม่ได้มีแค่ด้านสว่างสดใสเสมอไปนะครับ เพราะอยู่ดีๆ คุณก็จะไม่มีพ่อแม่,ญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงอยู่ใกล้ๆอีกต่อไปแม้แต่คนเดียว เวลาว่างๆหรือเบื่อๆเซ็งๆก็ไม่สามารถชวนใครออกไปกินข้าวข้างนอกได้ เพราะรอบตัวมีแต่คนที่เราไม่รู้จักเต็มไปหมด อยู่ๆไปความเหงาและความว้าเหว่ก็จะเริ่มค่อยๆ กัดกินหัวใจและสมองส่วนอื่นทำให้คุณมโนไปในด้านลบต่างๆ เพิ่มขึ้น และเริ่มคิดถึงการย้ายกลับไทยในที่สุด!
สิ่งเหล่านี้แก้ได้ถ้าคุณปรับวิธีคิดเสียใหม่ครับ รอบๆตัวไม่มีเพื่อนใช่มั้ย? ก็ออกไปหาเพื่อนที่ไม่ใช่คนไทยเลยสิ อุตส่าห์โกอินเตอร์มาก็ต้องมาหาเพื่อนใหม่ที่เป็นคนต่างชาติสิครับถึงจะเรียกว่าโกอินเตอร์อย่างแท้จริง เพื่อนๆหาไม่ยากจากการไปเข้าร่วมกิจกรรมที่เราสนใจและสามารถหาข้อมูลได้จากเว็บไซต์มากมายเช่น meetup.com หรือกลุ่มต่างๆในเฟสบุ๊ค อินสตาแกรม หรือสนใจเรียนอะไรก็ไปเข้าคลาสเลยสิครับ ได้เพื่อนแน่นอนถ้าเราเฟรนด์ลี่ซะอย่าง แอดมินได้เพื่อนต่างชาติหลายคน จากการไปเข้าคลาสเรียนภาษาฝรั่งเศสและภาษาจีนสมัยที่อยู่สตุตการ์ต แม้ว่าที่มิวนิคจะยังไม่ค่อยรู้จักใครแต่ว่าแอดมินก็บ่ยั่นครับ เพราะกรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียวฉันใด, สังคมเพื่อนฝูงก็ไม่สามารถหาได้ภายในพริบตาฉันนั้นครับ ถ้าหากพยายามขนาดนี้แล้วยังไม่มีคนคบอีก ก็อาจจะต้องลองหาหนังสือธรรมะมาอ่านเพื่อสงบจิตสงบใจสักพัก ก่อนจะมาพยายามสู้กันต่อนะครับ

7. สภาพอากาศ
อากาศเมืองนอกไม่ได้เย็นใส่เสื้อโค้ตสบายถ่ายรูปสวยเหมือนที่ทุกคนอาจจะแอบมโนไว้จากในทีวีนะครับ ในความเป็นจริงแล้วนั้นบางประเทศมีฤดูหนาวยาวนานและอุณหภูมิติดลบเยอะๆเป็นอาทิตย์ๆ หรือเป็นเดือนก็ไม่น้อย แถมแสงแดดก็ไม่ค่อยมีทำให้เสี่ยงต่อการซึมเศร้ายิ่งนัก แม้กระทั่งคนที่อาศัยอยู่ญี่ปุ่นเองก็จะรู้ว่าหน้าร้อนของญี่ปุ่นนั้นเหนอะหนะเหนียวตัว และร้อนตับแตกไม่แพ้บ้านเราเลยทีเดียว แถมหน้าหนาวก็ลมแรงและหนาวยะเยือกสุดๆ
สิ่งต่างๆเหล่านี้แก้ไขได้แค่จากตัวเราล้วนๆครับ นั่นคือเราต้องศึกษาก่อนย้ายไปให้ดีว่าสภาพอากาศในประเทศจุดหมายปลายทางของเรานั้นเป็นอย่างไร อุณหภูมิในแต่ละช่วงของปีอยู่ประมาณไหน แล้วก็เตรียมเสื้อผ้าที่เหมาะกับสภาพอากาศไปให้พร้อมครับ There’s no bad weather, only inappropriate clothing. นะครับ จำไว้

8. การกีดกันทางเชื้อชาติ
เรื่องนี้คนไทยเราชอบกังวลมโนไปก่อนกันมาก เพราะกลัวว่าคนชาติอื่นจะกีดกันดูถูกพวกเราเหมือนที่คนไทยทำกับแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในไทย ข่าวดีก็คือถ้าคุณคิดแบบที่ว่าก็แปลว่าตัวคุณเองก็ยอมรับอย่างกลายๆ ว่าคนไทยนั้นดูถูกคนต่างชาติในบ้านเราอยู่บ้าง….แปลว่าคุณก็กำลังยอมรับว่ามันจะเกิดขึ้นและมันจะมีแน่ๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมันก็มีอยู่ในทุกสังคมแหละครับ ซึ่งเรื่องแบบนี้เป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของเราและเราไปห้ามคนอื่นไม่ให้เค้าคิดแบบที่เค้าคิดไม่ได้ แต่สิ่งที่อยู่ในการควบคุมของเรานั้นก็คือว่า เราสามารถพัฒนาตัวเราเองได้, เรียนรู้ฝึกฝนทักษะต่างๆได้ และสามารถแสดงความสามารถของเราให้เป็นที่ประจักษ์ในสายตาของคนอื่นได้ ถ้าคุณมี”ความเด็ด” และ “ของดี” อยู่กับตัว ยังไงก็ไม่ต้องกลัวว่าใครจะมากีดกันหรอกครับ หากกลัวคนอื่นกีดกันหรือดูถูกก็จงเริ่มพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งๆจึ้นไปตั้งแต่เดี๋ยวนี้เลยครับ

9. ที่อยู่อาศัย
ความกังวลสุดท้ายคือเรื่องที่อยู่อาศัย เพราะเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่สำคัญมากๆนะครับ คนที่จะย้ายไปอยู่ต่างแดนส่วนมากจะกังวลว่าจะหาที่พักหรืออพาร์ตเมนต์ไม่ได้ดีๆ อาจจะแพงไปหรือแคบไปหรือไม่สะอาด และอื่นๆอีกมากมายร้อยแปดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับการหาที่พัก วิธีคลายกังวลก็อย่างเช่นการลองเช็คเว็บไซต์หาบ้านในเมืองที่จะไปอยู่ว่าลักษณะบ้านเป็นอย่างไรบ้าง รวมทั้งไปปรึกษานายจ้างหรือโรงเรียน/มหา’ลัยให้ช่วยแนะนำหอพักหรือบ้านเช่าให้ นอกจากนี้กลุ่มคนไทยในเฟสบุ๊คก็เป็นอีกที่หนึ่งที่เราสามารถปรึกษาขอคำแนะนำจากคนมีประสบการณ์ตรงได้ด้วยครับ
